วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Storyboard

ฉากที่ 1 สมาชิกกลุ่มกล่าวทักทาย และแนะนำตัว พร้อมกับพูดหัวข้อเรื่อง
กุลธิดา : สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาวกุลธิดา หอมนาน
กุลจิรา : สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาวกุลจิรา บรรจง
อรพิน : สวัสดีค่ะ ดิฉันอรพิน ปั๋นจอม
กุลธิดา : วันนี้กลุ่มของพวกเราจะมานำเสนอประเพณีและวัฒนธรรม โดยที่พวกเรายกตัวอย่างหัวข้อที่จะมานำเสนอคือ ประเพณีวันลอยกระทง ค่ะ

ฉากที่ 2 ตัวแทนกลุ่มเล่าประวัติวันลอยกระทง
วันลอยกระทงของทุกปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขี้นเต็มฝั่ง ทำให้เห็นสายน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้สามารถเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมา เป็นภาพที่ดูงดงามเหมาะแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง
ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน
ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม
เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า "เรือลอยประทีป" ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย
ภาคเหนือ (ตอนบน) จะเรียกประเพณีลอยกระทงว่า "ยี่เป็ง" อันหมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ (เดือนยี่ถ้านับตามล้านนาจะตรงกับเดือนสิบสองในแบบไทย) โดยชาวเหนือจะนิยมประดิษฐ์โคมลอย หรือที่เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" โดยการใช้ผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ ให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศ เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุตต์ ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานลอยกระทงจะเรียกว่า เทศกาลไหลเรือไฟ โดยจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ทุกปีในจังหวัดนครพนม มีการนำหยวกกล้วย หรือวัสดุต่าง ๆ มาตกแต่งเรือ และประดับไฟอย่างสวยงาม และตอนกลางคืนจะมีการจุดไฟปล่อยกระทงให้ไหลไปตามลำน้ำโขง
กรุงเทพมหานคร มีการจัดงานลอยกระทงหลายแห่ง แต่ที่เป็นไฮไลท์อยู่ที่ "งานภูเขาทอง" ที่จะเนรมิตงานวัดเพื่อเฉลิมฉลองประเพณีลอยกระทง ส่วนใหญ่จัดอยู่ราว 7-10 วัน ตั้งแต่ก่อนวันลอยกระทง จนถึงหลังวันลอยกระทง
ภาคใต้ มีการจัดงานลอยกระทงในหลาย ๆ จังหวัด เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีงานยิ่งใหญ่ทุกปี
ฉากที่ 3 สาธิตวิธีการทำกระทง พร้อมบอกอุปกรณ์ (ถ่ายวิดีโอ)

ฉากที่ 4 ถ่ายภาพบรรยากาศงานลอยกระทง

ฉากที่ 5 สมาชิกกลุ่มช่วยกันปล่อยโคมลอย และ ลอยกระทงของตัวเอง

THE END




วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

การทำงานของพยาบาล

ชื่ออาชีพ พยาบาล-Nurse
นิยามอาชีพ
ผู้ปฏิบัติพยาบาล-Nurse ทำหน้าที่ให้การรักษาพยาบาล และดูแลผู้ป่วยทั้งทางกายและจิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือทุพพลภาพ รักษาและป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ วางแผนและให้บริการด้านพยาบาล และทำหน้าที่ช่วยแพทย์ ในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล
ลักษณะของงานที่ทำ
รักษา ดูแล และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพยาบาล เป็นผู้ช่วยแพทย์ โดยการสังเกต และบันทึกความเปลี่ยนแปลงในคนไข้ รายงานให้แพทย์ทราบถึงอาการของคนไข้ตามลักษณะโรคที่เป็นทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ช่วยฟื้นฟูสุขภาพของคนไข้ ช่วยคนไข้ให้ปรับตัวเข้ากับภาวะขัดข้องใดๆ ที่อาจเกิด จากการเจ็บป่วย จัดให้คนไข้ มีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัย ป้องกันและควบคุมการเผยแพร่ของโรคติดเชื้อ สอนคนไข้ และประชาชนทั่วไปให้รู้จักการดูแลและส่งเสริมสุขภาพวางแผน มอบหมาย สั่งการ ดูแล และประเมินผลงานของผู้ช่วยพยาบาล และผู้ทำหน้าที่ประสานงาน ร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ และอนามัยแขนงอื่นๆ ในการบริการคนไข้
สภาพการจ้างงาน
สำหรับหน่วยงานราชการพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับเงินเดือนอัตรา 6,360 บาท ส่วนพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทได้รับเงินเดือนอัตรา 7,780 บาท และปริญญาเอกได้รับเงินเดือนอัตรา 10,600 บาท
ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนประมาณ 7,000 -7,600 บาท
สำหรับหน่วยงานเอกชน พยาบาลที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนขั้นต้นประมาณ 13,900 บาท ค่าอยู่เวร เวรละ 250 บาท ซึ่งจะมีรายได้เฉลี่ยจากค่าอยู่เวรประมาณเดือนละ 2,500 - 3,000 บาท ซึ่งพยาบาลเอกชนจะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 16,000 บาทมีสวัสดิการที่พักและสิทธิพิเศษ อื่นๆ ตามเงื่อนไขการตกลงกับผู้ว่าจ้าง
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพพยาบาลโดยปกติทำงานวันละ 8 - 9 ชั่วโมง และมีการเข้าเวรทำงานตามที่กำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติ นอกจากนี้ พยาบาลที่ออกเวรแล้วสามารถหารายได้พิเศษในการรับจ้างเฝ้าไข้ ให้กับคนไข้อีกด้วย
สภาพการทำงาน
ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน สถานพยาบาล(คลีนิค) สถานพักฟื้น สถานฟื้นฟู ดูแลรักษาสุขภาพ สถานสงเคราะห์ เด็ก หรือคนชรา สถานอนุบาลเด็กทารกหรือเด็กก่อนวัยเรียน สถานการศึกษา เช่น โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย สถานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม สถานีอนามัย/คลีนิคในชุมชนพยาบาลประจำบ้าน หรือส่วนบุคคล เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
ผู้ประกอบพยาบาล-Nurse ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. สำเร็จการศึกษา พยาบาลศาสตร์ต่อเนื่อง หรือพยาบาลศาสตร์
2. มีสุขภาพสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่พิการหรือทุพพลภาพ ปราศจากโรค (อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน)
3. มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รังเกียจผู้เจ็บป่วย มีความเมตตา และมีความรักในเพื่อนมนุษย์มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
4. มีความอดทน อดกลั้น และมีความกล้าในการตัดสินใจ
5. มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน
6. มีความเสียสละที่จะเดินทางไปรักษาพยาบาลผู้คนในชุมชนทั่วประเทศ
ผู้ที่จะประกอบพยาบาล-Nurse ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้: เมื่อสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น จะต้องเลือกเรียน/ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายวิทยาศาสตร์) จากนั้นจึงจะทำการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเอกชน ทั้งนี้การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะต้องมีผลการเรียนวิชาฟิสิกส์ เคมีชีววิทยา ค่อนข้างดีด้วย
โอกาสในการมีงานทำ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรมากกว่า 62 ล้านคน ความต้องการพยาบาลเพื่อทำการรักษาพยาบาลต้องเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากรประกอบกับรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสนใจในสุขภาพของประชาชนทุกเพศทุกวัยได้พยายามขยายบริการออกไปให้ทั่วถึง จึงจำเป็นต้องใช้พยาบาลในการปฏิบัติงานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของภาคเอกชนได้ขยายตัว มากขึ้น เพื่อบริการประชาชน และหน่วยงานอื่นๆ เช่น สถานประกอบการอุตสาหกรรม สำนักงานประกันภัย บริษัทขายยาและเคมีภัณฑ์ บริษัทขายเครื่องมือแพทย์ ต้องการพยาบาลไปดูแลรักษาพยาบาล หรือให้ คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพอนามัยแก่พนักงานในสถานประกอบการ หรือให้คำปรึกษาแนะนำ ในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาชีพพยาบาลสามารถไปประกอบวิชาชีพส่วนตัวได้ เช่น เปิดสถานดูแลเด็กอ่อน เด็กเล็กก่อนวัยเรียนผู้สูงอายุ หรือรับจ้างปฏิบัติงานเลี้ยงเด็กหรือดูแล ผู้สูงอายุ เป็นต้น ดังนั้น แนวโน้มของโอกาสในการมีงานทำของพยาบาล-Nurse ยังคงมีอยู่ค่อนข้างสูง จึงสามารถหางานทำได้ ไม่ยากนัก
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้ปฏิบัติหน้าที่ เป็นข้าราชการ ในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และในสังกัดกระทรวงกลาโหม ได้รับตำแหน่ง และเลื่อนขั้นยศตามขั้นตอนของระบบราชการ การศึกษาต่อเพิ่มเติมจะช่วยให้ เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งได้รวดเร็วขึ้นและสามารถเป็นถึงผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานได้ ในรัฐวิสาหกิจก็เช่นเดียวกัน ส่วนในโรงพยาบาลภาคเอกชนนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างการบริหารงานขององค์กรหรือสามารถทำธุรกิจส่วนตัวได้ คือเป็นเจ้าของสถานพยาบาล สถานดูแลเด็กอ่อน เด็กก่อนวัยเรียน และผู้สูงอายุ หรือศึกษาต่อเพิ่มเติมจนถึงระดับปริญญาเอก
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
ธุรกิจประกันชีวิต นักวิจัยให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น International HIV/AIDS Research Project เจ้าหน้าที่พยาบาลหรือที่ปรึกษาในองค์การระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือเป็นเจ้าหน้าที่แนะนำ Product Specialist ให้บริษัทขายยา และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
สาธารณสุขจังหวัดตามภูมิลำเนา โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนีทั่วประเทศ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยพยาบาลพระมงกุฎฯ วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศวิทยาลัยพยาบาลทหารเรือ วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ ตลอดจนโรงพยาบาลสังกัด กทม.(วชิรพยาบาล) และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณ นอกจากนั้นยังมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย คณะพยาบาลศาตร์(วิทยาเขตหาดใหญ่) สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่มีวิทยาลัยพยาบาล เช่น โรงพยาบาลหัวเฉียว โรงพยาบาลมิชชั่น ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วต้องการทำงาน สามารถค้นหาข้อมูลได้จากหน่วยงานที่ตนศึกษาอยู่ สาธารณสุขจังหวัดสำนักงานจัดหางานจังหวัด เว็บไซต์เอกชนต่างๆหนังสือพิมพ์ การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)